การประชุมวิชาการว่าด้วยการวิจัยและสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในงานเสวนาวิชาการ 65 ปี คณะโบราณคดี ณ โรงแรมพูลแมน สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11-12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม 4.0 เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 65 คณะโบราณคดี เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของคณาจารย์ในคณะครบทุกด้าน ได้แก่ โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาษาและจารึก มานุษยวิทยา ภาษาตะวันตก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงโครงการวิจัยที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอก โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมนักศึกษาเก่าคณะโบราณคดี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ซึ่งจะขอสรุปประเด็นผ่าน 5 หัวข้องานวิจัยที่สามารถเห็นความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยของคณะโบราณคดี ดังนี้
“ข้อสังเกตเกี่ยวกับการผลิตเหล็กสมัยโบราณในเขตอีสานใต้จากข้อมูลทางโบราณโลหะวิทยา”
โดย อาจารย์ ดร. ภีร์ เวณุนันทน์ และคุณบริสุทธิ์ บริพนธ์
การศึกษาชิ้นนี้เป็นการต่อยอดความสนใจงานทางโบราณโลหะวิทยาจากงานปริญญาโทและปริญญาเอกของผู้วิจัย โดยตั้งประเด็นคำถามต่อกิจกรรมการผลิตเหล็กสมัยโบราณในเขตอีสานใต้ คือพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ว่าการผลิตเหล็กจะถูกอ้างถึงบทบาทความสำคัญต่อการเติบโตของสังคมสมัยโบราณในพื้นที่อีสานใต้ตั้งแต่สมัยเหล็กเป็นต้นมา แต่ยังไม่ถูกอธิบายจากมุมมองในเชิงเทคโนโลยีและแนวคิดเรื่องการจัดการองค์กรทางสังคมของการผลิตมากนัก ผู้วิจัยจึงทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่พบร่องรอยของกิจกรรมการผลิตเหล็กและหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเหล็ก โดยใช้วิธีวิทยาด้านโบราณโลหะวิทยา
การนำเสนอช่วงแรกผู้วิจัยฉายภาพให้เห็นความสำคัญของเหล็กในพื้นที่อีสานใต้ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ว่าเหล็กเริ่มเป็นที่รู้จักในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล และถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือประเภทต่างๆ ตลอดจนเป็นอาวุธในเวลาต่อมา การใช้อย่างแพร่หลายเช่นนี้อนุมานได้ว่าผู้คนสามารถเข้าถึงโลหะได้ไม่ยาก และยังสัมพันธ์กับกิจกรรมหลายอย่างในยุคนั้น เช่น การเกษตรกรรม การหักร้างถางพงเพื่อเพิ่มพื้นที่ การสร้างคูน้ำคันดินหรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ซึ่งนำมาสู่กิจกรรมการผลิตเหล็กเป็นวัตถุต่างๆ ดังพบในแหล่งโบราณคดีในภาคอีสานที่พบตะกรันหลากหลายขนาด การผลิตเหล็กจึงมักถูกอ้างถึงในฐานะกิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจการเมืองที่ส่งผลต่อการเติบโตของสังคมในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ถึงพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างน้อย
อย่างไรก็ดี การศึกษาที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดในการอธิบายความสำคัญของการผลิตเหล็กดังกล่าวซึ่งขึ้นอยู่กับแหล่งโบราณคดีเพียงไม่กี่แห่งที่มีการศึกษาลงลึกในเชิงเทคโนโลยี ข้อจำกัดเรื่องการกำหนดอายุของกิจกรรมการผลิตเหล็ก เนื่องจากกิจกรรมการผลิตเหล็กสมัยโบราณมักพบร่วมกับชุมชนที่มีคูน้ำคันดิน ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของชุมชนในช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายสมัยเหล็ก แต่หลายแห่งก็มีการอยู่อาศัยหลายช่วงเวลา และหลักฐานกิจกรรมการผลิตเหล็กหรือการถลุงเหล็กในเขตอีสานใต้มีเพียงไม่กี่แห่งที่มีค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ ข้อจำกัดเรื่องการแปลความเชิงพื้นที่และความสัมพันธ์ระหว่างหลักฐานการผลิตเหล็กกับชุมชนโบราณในพื้นที่อีสานใต้ในแต่ละช่วงเวลา ข้อจำกัดเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างตะกรันและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่งผลต่อการแปลความกิจกรรมการผลิตเหล็กที่พบ ทำให้เกิดคำถามว่านั่นคือแหล่งถลุงเหล็กหรือแหล่งผลิตวัตถุ
จากการศึกษาการถลุงแร่เหล็กจากก้อนกรวดศิลาแลง ผู้วิจัยนำเสนอข้อมูลว่าศิลาแลงสามารถพบได้ในหลายพื้นที่ทั่วภูมิภาค ขณะที่พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีแหล่งแร่เหล็กขนาดใหญ่ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีแหล่งแร่เหล็กขนาดเล็กอยู่ แสดงว่าเทคนิคการถลุงเหล็กมีความหลากหลายตามแต่ละท้องถิ่นด้วย ซึ่งการเปรียบเทียบความหลากหลายในช่วงเวลาเดียวกัน หรือความเปลี่ยนแปลงแนวดิ่งของแต่ละท้องถิ่นในแต่ละช่วงเวลา ผู้วิจัยเน้นย้ำประเด็นการศึกษาว่าเป็นการย้อนมองหลักฐานการผลิตเหล็กสมัยโบราณ โดยเป็นการพิจารณาข้อมูลที่มีอยู่ใหม่ด้วยแนวทางโบราณโลหะวิทยา เพื่อสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับประเด็น อายุสมัย การกระจายตัว ลักษณะของกิจกรรมที่พบ และความหลากหลายเชิงเทคโนโลยีของการผลิตเหล็ก รวมถึงเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของการถลุงเหล็กจากก้อนกรวดศิลาแลงในสมัยโบราณ
ผู้วิจัยทำการสำรวจแหล่งโบราณคดีจำนวน 49 แห่ง ระบุแหล่งที่พบตะกรันได้ทั้งหมด 36 แห่ง ซึ่งส่วนมากสัมพันธ์กับชุมชนคูน้ำคันดินจำนวน 13 แห่ง พบตะกรันจำนวนไม่มากและเฉพาะจากการขุดค้นทางโบราณคดีอีก 23 แห่ง พบเนินตะกรันขนาดต่างๆ ซึ่งมีตะกรันจำนวนมากที่พบร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ท่อลมและชิ้นส่วนเตา จากนั้นผู้วิจัยได้หยิบยกกรณีศึกษาจากแหล่งถลุงเหล็กสมัยโบราณในเขตอำเภอบ้านกรวด ซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างแหล่งผลิตที่แยกจากชุมชน ตัวอย่างของเทคนิคที่ใช้ และตัวอย่างแสดงถึงความสัมพันธ์เชิงเคมีระหว่างแร่และตะกรัน
ผู้วิจัยได้ให้ข้อสังเกตเบื้องต้นว่าจากผลการศึกษามีความจำเป็นต้องพิจารณาใหม่เกี่ยวกับการถลุงเหล็กสมัยโบราณ มีการพบแหล่งตะกรัน 2 ประเภท คือแหล่งตีเหล็กซึ่งพบตะกรันในชั้นทับถมทางโบราณคดี และแหล่งถลุงเหล็กซึ่งพบในลักษณะของเนินตะกรัน อายุของกิจกรรมการถลุงเหล็กสมัยโบราณยังเป็นข้อจำกัดสำคัญของการศึกษา การถลุงเหล็กในพื้นที่ศึกษามีความหลากหลาย แสดงถึงเทคนิคที่แตกต่างของแต่ละช่าง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นควรต้องศึกษาต่อและเชื่อมโยงกับบริบททางโบราณคดีของแต่ละสมัยต่อไป
“เจดีย์ทรงบัวแปดเหลี่ยมในศิลปะล้านช้าง หลักฐานการกำหนดอายุจากชุมชนโบราณเวียงคุก”
โดย รศ. ดร. ประภัสสร์ ชูวิเชียร
การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่องศิลปะล้านช้างที่เมืองโบราณเวียงคุก จังหวัดหนองคาย โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและสร้างสรรค์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้วิจัยจำกัดขอบเขตการศึกษาไว้ที่ประเด็นศิลปะล้านช้างในเมืองโบราณเวียงคุก จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นเมืองโบราณไม่กี่แห่งภายใต้ขอบเขตวัฒนธรรมล้านช้างที่อยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน ซึ่งในอดีตเป็นเมืองในอาณัติของนครเวียงจันทน์ ช่วงแรกผู้วิจัยปูพื้นฐานถึงที่ตั้งและความสำคัญของเมืองโบราณเวียงคุกว่าเป็นเมืองริมแม่น้ำโขง เยื้องกับเมืองซายฟอง ซึ่งเป็นชานเมืองของเวียงจันทน์ในอดีต เวียงคุกเคยเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของเวียงจันทน์ โดยมีหมุดหมายสำคัญทางภูมิศาสตร์คือบริเวณปากห้วยคุกหรือห้วยคุกคำ เมืองนี้มีความเก่าแก่มาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 22 ซึ่งปรากฏชื่อในจดหมายเหตุของชาวตะวันตกและอาจมีมาก่อนหน้านั้น คือพร้อมๆ กับการสร้างราชธานีเวียงจันทน์ของพระยาโพธิสารราชและสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ข้อมูลที่ยกมานี้ก็เพื่อการกำหนดอายุเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยมในผังแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านช้าง เจดีย์ทรงนี้ในภาษาลาวเรียกว่า “เจดีย์ทรงหมากปลี” หรือทรงปลีกล้วย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของธาตุลาวที่คุ้นเคยกันดี เช่น พระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย พระธาตุหลวงที่นครหลวงเวียงจันทน์ กลุ่มเจดีย์ทรงบัวแปดเหลี่ยมยังไม่ค่อยพบการกำหนดอายุว่าอยู่ร่วมสมัย หรือต่างสมัยกับผังสี่เหลี่ยม
เวียงคุกเป็นเมืองโบราณที่ไม่มีคูน้ำคันดิน มีเมืองบริวารอยู่ใกล้ๆ คือ เวียงโม เวียงปะโค ถือเป็นพื้นที่ที่ปรากฏศิลปกรรมล้านช้างในช่วงเวลาหนึ่งที่น่าสนใจมาก เวียงคุกเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่เป็นหน้าด่านให้กับเวียงจันทน์ ความสำคัญในอดีตสะท้อนได้จากการสถาปนาพระมหาธาตุที่เมืองนี้โดยกษัตริย์จากเวียงจันทน์ นอกจากนี้ยังพบจารึกอีกด้วย ปัจจุบันเวียงคุกถูกลดความสำคัญลงกลายเป็นหมู่บ้านและตำบลเวียงคุกในเขตอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย และมีสภาพเป็นโบราณสถานที่แทรกตัวอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งโบราณสถานมีทั้งที่ยังคงสภาพเดิมและถูกซ่อมใหม่ น่าสนใจว่ายังพบอิทธิพลศิลปกรรมล้านนาปรากฏอยู่ในพื้นที่ด้วย ซึ่งน่าจะเข้ามายังล้านช้างประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 21 ตัวอย่างเช่น ธาตุญาพ่อแก่ ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดรุ่นหลัง รวมถึงพระพุทธรูปแบบล้านนา ผู้วิจัยเสนอแนะว่าควรเป็นหมู่บ้านที่จัดการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สะท้อนศิลปกรรมล้านช้างในเขตประเทศไทย
ธาตุหรือเจดีย์ในศิลปะล้านช้างมาจากความเชื่อเรื่องการบรรจุพระธาตุ เป็นคำเรียกที่คุ้นหูในเขตวัฒนธรรมภาคอีสานและภาคเหนือในประเทศไทย พบว่าธาตุในศิลปะล้านช้างแรกเริ่มน่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านนา ความเป็นศิลปะพื้นบ้านล้านช้างได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงรูปแบบ แต่ยังคงเค้าอิทธิพลศิลปะล้านนา เช่น ธาตุหมากโมในวัดวิชุนราช นครหลวงพระบาง ซึ่งมีเค้าความเป็นเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนา เช่น การทำฐานสี่เหลี่ยม มีฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซ้อนกัน 2 ชั้น แต่ส่วนองค์ระฆังทำเป็นทรงกลมมีลักษณะเหมือนแตงโมผ่าครึ่งจึงเรียกว่า ธาตุหมากโม(แตงโม)
ต่อมาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ตอนปลายพบว่าอิทธิพลของศิลปกรรมล้านนาปรากฏในศิลปกรรมล้านช้าง ด้วยสาเหตุจากสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ผู้มีพระมารดาเป็นเจ้าหญิงเชียงใหม่และพระราชบิดาคือพระยาโพธิสารราช ได้เสด็จจากเชียงใหม่มาปกครองล้านช้างและนำเอาศิลปวัฒนธรรมต่างๆ จากล้านนามาด้วย หลักฐานสำคัญทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนถึงอิทธิพลล้านนาก็คือ การสร้างเจดีย์ทรงปราสาทยอดแบบล้านนา เช่น เจดีย์ธาตุน้อยที่วัดมหาธาตุ เมืองหลวงพระบาง ก็มีรูปแบบที่เทียบได้กับเจดีย์ทรงปราสาทยอดของล้านนา ช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ตอนกลาง
เจดีย์สำคัญที่เป็นแบบอย่างการสร้างธาตุบัวเหลี่ยมหรือทรงหมากปลีคือ “พระธาตุศรีสองรัก” ซึ่งมีศิลาจารึกที่สร้างขึ้นร่วมกันระหว่างกษัตริย์สองดินแดน คือสมเด็จพระไชยเชษฐากับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ระบุว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2103 จึงมีการใช้หมุดหมายนี้เป็นตัวกำหนดรูปแบบเป็นเอกลักษณ์และสืบเนื่องมาของล้านช้าง ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีธาตุอีกหนึ่งองค์ที่สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์สำคัญเพราะตั้งอยู่ใจกลางเมืองเวียงจันทน์ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ คือ “ธาตุดำ” ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงบัวในผังแปดเหลี่ยม หากกำหนดอายุสมัยตามนครเวียงจันทน์น่าจะเป็นช่วงประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 22 หรือราว พ.ศ. 2100 เป็นต้นมา
ประเด็นสำคัญในการนำเสนอครั้งนี้ ผู้วิจัยพบว่าที่เมืองโบราณเวียงคุกมีธาตุทรงบัวแปดเหลี่ยมจำนวนหลายองค์ ทั้งที่ได้รับการบูรณะจนมีสภาพสมบูรณ์และที่เป็นซากโบราณสถาน บางองค์หลงเหลือเพียงฐาน องค์สำคัญที่นำมากล่าวถึงคือ ธาตุประธานภายในวัดศิลาเลข อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย คำว่า “ศิลาเลข” ในภาษาลาวหมายถึงศิลาจารึก เนื่องจากภายในวัดพบศิลาจารึก ธาตุองค์นี้มีขนาดย่อม อยู่ในผังแปดเหลี่ยม สร้างอยู่ในอาคารหลังคาคลุม ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากทางศรีลังกา รูปแบบที่สำคัญของธาตุองค์นี้คือส่วนฐานที่เรียกกันเฉพาะในศิลปะลาวว่า “ฐานบัวเข่าพรหม” มีลักษณะคล้ายลูกแก้วที่มีลวดบัวซ้อนอยู่ข้างบนคล้ายๆ กับเข่าหรือขา นักวิชาการลาวจึงเรียกว่าเข่าพรหม รูปแบบศิลปะเช่นนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของธาตุในศิลปะล้านช้าง
ส่วนศิลาเลขหรือศิลาจารึกที่กล่าวถึงข้างต้น ปัจจุบันถูกเคลื่อนย้ายออกไปแล้ว โดยมีเรื่องเล่าว่าพระสงฆ์เมืองหนองคายได้ขนศิลาจารึกนี้ไปเก็บไว้ที่วัดศรีเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย การอ่านและแปลศิลาจารึกดังกล่าวสรุปความว่าสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชโปรดฯ ให้พระยาพลศึกซ้ายสร้างวัดศรีสุพรรณอาราม พร้อมทั้งกัลปนาคนและที่ดินให้เป็นสมบัติวัดในปี พ.ศ. 2109 หลังการสร้างพระธาตุศรีสองรักเพียง 6-7 ปี ศิลาจารึกนี้จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการนำรูปแบบศิลปกรรมของพระธาตุศรีสองรักมาเทียบเคียงกับธาตุแปดเหลี่ยมที่วัดศิลาเลขพบว่าลวดบัวที่รองรับองค์ระฆังทรงบัวเหลี่ยมนี้มีรูปแบบคล้ายคลึงกันอยู่คือมีการใช้ฐานบัวเข่าพรหมและฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซ้อนเพื่อรองรับบัวเหลี่ยม
ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พระธาตุที่สร้างหลังจากนี้เริ่มได้รับอิทธิพลจากศิลปะอยุธยามีการใช้ขาสิงห์แบบอยุธยาเข้ามาแทรกอยู่ตรงฐานรองรับบัวเหลี่ยม เป็นบัวเข่าพรหมอีกแบบซึ่งพัฒนามาจากแบบที่ไม่มีขาสิงห์ ยกตัวอย่างเช่นเจดีย์บริวารวัดศรีชมภูองค์ตื้อ ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ซึ่งสร้างหลังการหล่อพระเจ้าองค์ตื้อในปี พ.ศ. 2105 ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ลงมา อีกตัวอย่างคือเจดีย์ที่ถ้ำสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นหลักฐานศิลปกรรมล้านช้างในดินแดนไทยคือ พบศิลาจารึกของกษัตริย์และขุนนางล้านช้างที่ช่วยกำหนดอายุพระธาตุกลุ่มนี้ว่าอยู่ในช่วงต้นหรือกลางพุทธศตวรรษที่ 22 แสดงว่าเจดีย์หรือธาตุที่พบในถ้ำแห่งนี้มีอายุหลังพระธาตุที่วัดศรีสุพรรณอารามและพระธาตุศรีสองรักลงมา
การใช้รูปแบบขาสิงห์วงโค้งแบบจีนที่พบในสมัยอยุธยาตอนกลางเป็นต้นมา ผู้วิจัยจึงสรุปเบื้องต้นว่าธาตุแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างขึ้นในระยะแรก คือช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 มีระบบฐานที่เป็นบัวเข่าพรหมแบบลูกแก้วอย่างเดียว ถัดจากนั้นประมาณ 20-30 ปี จึงเริ่มได้รับอิทธิพลรูปแบบขาสิงห์จากอยุธยา ดังนั้นธาตุดำในนครหลวงเวียงจันทน์ยังไม่เคยใช้ระบบฐานบัวเข่าพรหม แต่ใช้บัวถลาที่เป็นบัวคว่ำซ้อนกัน ซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะสุโขทัยที่รับผ่านล้านนา ดังนั้นจึงต้องมีอายุเก่ากว่า เมื่อนำบริบทประวัติศาสตร์มาเชื่อมโยงพบว่าน่าจะมีความตั้งใจสร้างเวียงจันทน์ให้เป็นราชธานีมาก่อนสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแล้ว ดังพบว่าพระยาโพธิสารราช ผู้เป็นพระบิดาสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชได้เสด็จลงมาประทับในเวียงจันทน์ครั้งละนานๆ และยังพบหลักฐานศิลาจารึกการกัลปนาของพระองค์ตั้งแต่นครเวียงจันทน์ไปจนถึงอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แสดงว่าอำนาจของพระยาโพธิสารราชมีความใกล้ชิดกับล้านนามากในยุคนั้น และได้แผ่ลงมาถึงเวียงจันทน์แล้ว
ผู้วิจัยยังได้สรุปอีกครั้งว่าเจดีย์ทรงบัวแปดเหลี่ยมนั้นได้รับอิทธิพลจากล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเจดีย์ในเมืองเชียงใหม่และเมืองแพร่ ต่อมาพัฒนาใช้รูปแบบฐานบัวเข่าพรหมแบบลูกแก้วและฐานบัวเข่าพรหมแบบขาสิงห์ในช่วงหลัง ดังนั้นในเขตเวียงคุกและพื้นที่ใกล้เคียงจึงพบเจดีย์ทรงบัวแปดเหลี่ยม อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22 ซึ่งสามารถกำหนดอายุธาตุที่พบในระยะหลังได้ว่าไม่เก่าไปกว่าต้นพุทธศตวรรษที่ 22 และธาตุทรงนี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในเขตวัฒนธรรมล้านช้าง เช่น หลวงพระบาง ลงมาถึงร่วมสมัยรัตนโกสินทร์อีกด้วย
“สถาปัตยกรรมตะวันตกของห้างร้านยุโรปกับความเป็นเมืองสมัยใหม่ของกรุงเทพมหานคร”
โดย ผศ. ดร. เอกสุดา สิงห์ลำพอง
การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยชุดใหญ่ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มาของการศึกษาเกิดจากความสนใจของผู้วิจัยในประเด็นวัฒนธรรมการบริโภคสินค้าตะวันตกของชนชั้นนำสยามในช่วงเปลี่ยนผ่านคริสต์ศตวรรษ คือช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มองผ่านสถาปัตยกรรมห้างร้านควบคู่ไปกับสถานการณ์ขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่กรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิทัศน์อย่างรวดเร็วด้วยโครงการปฏิรูปทางด้านสาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายถนนต่างๆ ที่แสดงความสัมพันธ์กับตำแหน่งที่ตั้งของสถาปัตยกรรมห้างร้านยุโรปเหล่านี้ ซึ่งหลังจากการสำรวจรูปแบบสถาปัตยกรรมและตำแหน่งที่ตั้ง นำไปสู่การอธิบายถึงรสนิยมการบริโภคสินค้าตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมอัตลักษณ์ความเป็นสมัยใหม่หรือความเป็นตะวันตกของชนชั้นนำอย่างไร
ผู้วิจัยเริ่มจากการนำเสนอแผนที่กรุงเทพฯ ค.ศ. 1904 ของช่างภาพชาวภูเก็ตที่มาตั้งสตูดิโอถ่ายภาพที่ถนนเจริญกรุง ช่างภาพคนดังกล่าวยังเป็นนักภูมิศาสตร์สมัครเล่นจึงจัดทำแผนที่กรุงเทพฯ ซึ่งให้รายละเอียดของสถานที่สำคัญในยุคนั้น อาทิ พระบรมมหาราชวัง วังเจ้านายพระองค์ต่างๆ โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สถานทูต ศาสนสถาน และห้างร้านยุโรป ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพของความรับรู้เกี่ยวกับกรุงเทพฯ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเวลานั้นมีศูนย์กลางอยู่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ส่วนบริเวณพื้นที่รอบนอกยังมีสภาพเป็นทุ่งนา
หลังจากนั้นได้เปรียบเทียบกับกรุงเทพฯ ในช่วง 10 ปีต่อมาคือ ค.ศ. 1914 ฉายให้เห็นภาพการตั้งถิ่นฐาน อาคารบ้านเรือนที่หนาแน่นขึ้นในเกาะรัตนโกสินทร์ รวมถึงบริเวณพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาและถนนเจริญกรุงด้วย นอกจากนี้ในแผนที่ยังแสดงการแบ่งเขตพื้นที่บริเวณสระปทุม บางรัก ซึ่งเป็นถนนสีลมปัจจุบัน รวมถึงชื่อเก่าของบางพื้นที่ เช่น คลองพ่อยมหรือคลองเจ้าสัวยม ซึ่งก็คือคลองสาทรและถนนสาทรในเวลาต่อมา พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาวยุโรป ซึ่งประกอบไปด้วยสถานทูตและบรรดาห้างร้านต่างๆ
จากแผนที่ ภาพถ่ายเก่า เอกสารต่างๆ ผู้วิจัยได้เลือกห้างร้านสมัยรัชกาลที่ 5 มาเป็นภาพแทนการอธิบายความเป็นเมืองสมัยใหม่ ได้แก่ ห้างบี. กริมแอนโก ห้างฟอล์คแอนด์ไบเดค ห้างแบตแมน ห้างยอนแซมสันแอนด์ซัน ห้างเอส เอ บี โดยใช้เกณฑ์การคัดเลือกคือ ห้างที่มีปีการก่อตั้งที่ชัดเจน มีสถาปัตยกรรมที่เป็นแบบ Stand Alone คือเป็นห้างขนาดใหญ่ ไม่ใช่ห้างขนาดเล็กๆ ตามตึกแถวที่ยังมีอีกจำนวนมาก มีลักษณะกิจกรรมการค้าแบบห้างสรรพสินค้า (Department Store) ที่จำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิด โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ตามโครงข่ายถนนสายสำคัญ
ห้างสรรพสินค้ากลุ่มที่หนึ่ง เป็นห้างร้านที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงเรื่อยมาตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ห้างบี. กริมแอนโก ตั้งอยู่บริเวณเชิงสะพานดำรงสถิต แยกสามยอด ห้างฟอล์คแอนด์ไบเดคที่ปัจจุบันกลายเป็นอาคารโอ พี เพลส ตั้งอยู่บริเวณหลังโรงแรมโอเรียนเต็ล และห้างเอส เอ บี ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นห้างร้านที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินและบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ ห้างแบตแมน บริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ห้างยอนแซมสันแอนด์ซัน ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รูปแบบสถาปัตยกรรมของห้างร้านตามที่กล่าวมาถือได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่อยู่ในขนบรูปแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิกแบบนีโอคลาสสิก (Neo-Classic) หรือนีโอปัลลาเดียน (Neo-Palladian) กับสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนซองส์ (Neo-Renaissance) ซึ่งในสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไม่เพียงนิยมใช้สำหรับการก่อสร้างห้างร้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสถานที่ราชการที่ก่อตั้งใหม่ในยุคนั้นด้วย สะท้อนถึงค่านิยมความเป็นสมัยใหม่ของชนชั้นนำสยามในกรุงเทพฯ ที่สัมพันธ์กับศิลปวัฒนธรรมยุโรปในขณะนั้น ในบรรดาห้างร้านทั้ง 5 แห่งที่กล่าวถึง มีถึง 4 แห่งที่ได้รับเครื่องหมายตราครุฑหรือเครื่องหมายตราตั้งแบบเก่า สะท้อนถึงสายสัมพันธ์และการได้รับความอุปถัมภ์จากราชสำนักที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ยกเว้นแต่ห้างฟอล์คแอนด์ไบเดคซึ่งไม่มีเครื่องหมายดังกล่าว แต่มีป้ายหน้าห้างร้านเป็น 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน สะท้อนถึงกลุ่มลูกค้าซึ่งมีทั้งชาวไทย ชาวจีน และชาวตะวันตก
ผู้วิจัยสรุปผลการศึกษาครั้งนี้ว่า ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ห้างร้านเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นนั้น สถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกไม่ได้รับความนิยมแล้วในยุโรป แต่กลับถูกนำมาใช้ในเชิงสัญญะของความเป็นสยามใหม่ และความทันสมัยของผู้ซื้อ ซึ่งก็คือกลุ่มชนชั้นนำ ผู้วิจัยยังให้ข้อเสนอแนะว่าควรมีการศึกษาบทบาทของสยามในโครงข่ายอาณานิคมคือความสัมพันธ์กับกลุ่มเมืองต่างๆ ในเขตนิคมช่องแคบ (Strait Settlement) เช่น สิงคโปร์ ปีนัง ในการศึกษาครั้งต่อไปอีกด้วย
“ประวัติศาสตร์พื้นที่ตาบอดย่านฝั่งธนฯ : ถิ่นคริสตชนบางสะแก”
โดย อาจารย์ภูมิ ภูติมหาตมะ
งานนี้เป็นการศึกษาความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่กับพัฒนาการทางสังคมของหมู่บ้านวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด บางสะแก เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงสภาพภูมิศาสตร์และบริบททางประวัติศาสตร์ โดยเสนอว่าการบุกเบิกที่ดินวัดแม่พระประจักษ์ฯ ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นวิสัยทัศน์ของบาทหลวงคาทอลิกและขุนนางเชื้อสายตะวันตกในสยามที่ต้องการขยายพื้นที่ชุมชนคาทอลิกจากวัดแม่พระลูกประคำหรือโบสถ์กาลหว่าร์ ย่านตลาดน้อย ฝั่งพระนครมายังฝั่งธนบุรีเพื่อรองรับการสร้างทางรถไฟสายคลองสาน-มหาชัย ที่ตั้งของชุมชนจึงเป็นพื้นที่สวนทำเลงาม ติดคลองต้นไทรและสถานีรถไฟ ซึ่งเอื้อต่อการสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก
แม้การบุกเบิกที่ดินดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกลุ่มคริสตชนบางสะแกในเวลานั้น แต่ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มคริสตชนจากฝั่งพระนครได้เข้ามาใช้พื้นที่นี้เป็นที่หลบภัยสงคราม หมู่บ้านดังกล่าวจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจากเครือข่ายของกลุ่มคริสตังจีนที่วัดแม่พระลูกประคำ ขณะเดียวกันการขยายตัวของสังคมเมืองสมัยใหม่ในทศวรรษที่ 2500 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาถนนทำให้พื้นที่สวนลดน้อยลง คลองที่เคยเป็นเส้นทางสัญจรหลักหมดความสำคัญลง พื้นที่ถูกโอบล้อมด้วยแหล่งที่พักและอาคารพาณิชย์ กลายเป็นพื้นที่ตาบอดที่รถยนต์เข้าไม่ถึง จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านกายภาพเรื่อยมา
ด้วยสภาพพื้นที่ตาบอดเช่นนี้ ทางหนึ่งได้ส่งผลให้วิถีความเป็นหมู่บ้านคริสตชนในยุค 2500 ยังคงดำรงอยู่ โดยผู้วิจัยได้นำเสนอบทบาทอันโดดเด่นในการทำงานด้านสังคมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการปลูกฝังแนวคิดการพัฒนาสังคมที่มีความเป็นสากล และอิทธิพลทางความคิดจากกระบวนการ "คาทอลิกแอ็คชั่น" (Catholic Action) ที่สำคัญคือคณะยุวกรรมกรคาทอลิกและคณะพลมารี ซึ่งเป็นรากฐานให้กับกลุ่มงานด้านสังคมอื่นๆ ของหมู่บ้านที่เติบโตขึ้นในเวลาต่อมา และกลายเป็นพลังที่ช่วยรักษาคุณค่าทางสังคมของหมู่บ้านให้คงอยู่ รวมไปถึงการมีบทบาทนำในท้องถิ่นในการแก้ปัญหาต่างๆ ของชุมชน ซึ่งผู้วิจัยมองว่านี่คือคุณค่าของพื้นที่ตาบอดที่ผู้คนยังสามารถยืนหยัด "ใจที่ไม่บอด" สร้างวิถีชุมชนที่มีชีวิต มีความคิด มีศักดิ์ศรี ท้าทายความเจริญของเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยนานาปัญหาในปัจจุบัน
“คนไทยเชื้อสายจีนในนวนิยายไทย: ความหลากหลายของโลกทัศน์และความเป็นตัวตน”
โดย ผศ. อมรชัย คหกิจโกศล
บทความนี้ผู้วิจัยศึกษานวนิยาย 4 เรื่อง ได้แก่ จดหมายจากเมืองไทย (2512) ของโบตั๋น อยู่กับก๋ง (2519) ของหยก บูรพา กิ่งไผ่ (2524) ของสีฟ้า และรัตนโกสินทร์ (2530) ของ ว. วินิจฉัยกุล เพื่อชี้ให้เห็นว่านวนิยายเหล่านี้สะท้อนโลกทัศน์ของคนจีนและคนไทยที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างไร คำถามในการวิจัยที่สำคัญในครั้งนี้คือกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนในรุ่นต่อมาได้รับอิทธิพลจากคนจีนและคนไทยที่ส่งผลต่อโลกทัศน์อย่างไร โดยกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนในการศึกษาผ่านนวนิยายครั้งนี้หนึ่งคือกลุ่มที่มีพ่อเป็นคนจีน แม่เป็นคนไทย และสองคือกลุ่มที่มีพ่อและแม่เป็นคนจีน แต่เกิดในประเทศไทย
จากนวนิยายทั้ง 4 เรื่องดังกล่าว สามารถแบ่งช่วงเวลาในการดำเนินเรื่องออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ 1 คือนวนิยายเรื่อง “รัตนโกสินทร์” ซึ่งดำเนินเหตุการณ์ช่วงรัชกาลที่ 1-3 กลุ่มที่ 2 คือนวนิยายอีก 3 เรื่องซึ่งเป็นยุคหลังลงมา ได้แก่ “กิ่งไผ่” ดำเนินเหตุการณ์ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองลงมาถึงช่วง พ.ศ. 2500 “อยู่กับก๋ง” ดำเนินเหตุการณ์ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2490 ลงมา และ “เรื่องจดหมายจากเมืองไทย” ช่วงเวลาดำเนินเรื่องประมาณ พ.ศ. 2485-2512 ซึ่งแต่ละเวลาส่งผลต่อโลกทัศน์ของตัวละครค่อนข้างมาก ซึ่งโลกทัศน์ในที่นี้ผู้วิจัยอธิบายว่าหมายถึง การตีความปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัวของมนุษย์ ความเข้าใจจักรวาล หรือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวของมนุษย์ในสังคม มักหมายรวมไปถึงการที่มนุษย์มองตัวเองว่าสัมพันธ์กับคนอื่นหรือสรรพสิ่งรอบตัวอย่างไร โลกทัศน์ที่ผู้วิจัยสนใจศึกษามี 3 ประเด็นคือ โลกทัศน์ทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
โลกทัศน์ทางสังคมที่สะท้อนอย่างโดดเด่นจากตัวละครคือ เรื่องชาติและเชื้อชาติ ครอบครัวและการสืบเชื้อสาย สำหรับประเด็นเรื่องชาติและเชื้อชาติ ตัวอย่างตัวละคร “ตันส่วงอู๋” ซึ่งเป็นชาวจีนในเรื่องจดหมายจากเมืองไทยเป็นผู้ยึดมั่นและภาคภูมิใจในความเป็นจีนมาก เช่นเดียวกับ “ก๋ง” ตัวละครหลักในเรื่องอยู่กับก๋งก็สะท้อนประเด็นเรื่องชาติว่า คนไทยไม่ถนัดการค้าขายอย่างคนจีน ส่วนตัวละครชาวไทย เช่น “พระยาพิพัฒน์โกษา” ในเรื่องรัตนโกสินทร์ สะท้อนความไม่มีอคติต่อคนเชื้อชาติอื่น แต่ในทางกลับกันตัวละครอย่าง “ท่านผู้หญิงเรียม” กลับมองว่าชาวจีนด้อยกว่าชาวไทยและชาวมอญมาก ส่วน “ท่านองค์พระ” ตัวละครในเรื่องกิ่งไผ่ สะท้อนออกมาจากคำพูดที่ว่าเชื้อชาติไม่ใช่สิ่งที่น่าละอาย ด้านตัวละครชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งเปรียบเป็นผู้อยู่ระหว่างสองวัฒนธรรม ผู้วิจัยได้หยิบยกตัวละครสำคัญออกมาอธิบายโลกทัศน์ทางสังคมในประเด็นชาติและเชื้อชาติ เช่น “หยก” ในเรื่องอยู่กับก๋ง เป็นผู้ที่มีสำนึกว่าตนเป็นคนไทย มีความภาคภูมิใจในการร้องเพลงชาติไทย “เจ้าสัว” ในเรื่องรัตนโกสินทร์เป็นลูกจีนที่มีสำนึกในหน้าที่ของการธำรงรักษาความเป็นจีนเอาไว้ในรุ่นของตน แต่กลับเห็นว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับหลานจีนในรุ่นต่อไป สำหรับประเด็นครอบครัวและการสืบเชื้อสาย “ก๋ง” ในเรื่องอยู่กับก๋งสะท้อนออกมาว่าการแต่งงานระหว่างคนไทยกับคนจีนเป็นสิ่งยอมรับได้ “ตันส่วงอู๋” ในเรื่องจดหมายจากเมืองไทย สะท้อนค่านิยมความปรารถนาต่อบุตรชายมากกว่าบุตรสาว “เจ้าสัว” ในเรื่องรัตนโกสินทร์มีลักษณะอย่างครอบครัวไทยมากกว่าจีน ส่วนตัวละครชาวไทยอย่าง “แม่พลับ” ในรัตนโกสินทร์ เลือกปฏิบัติตนตามธรรมเนียมไทยแทน แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งกับธรรมเนียมจีน
โลกทัศน์ทางเศรษฐกิจ ในเรื่องอยู่กับก๋ง ตัวละคร “ก๋ง” มีค่านิยมว่าต้องขยัน ส่วน “หยก”ทำงานรับจ้างและรู้สึกภูมิใจในการทำงานแลกเงิน ขณะที่ “คุณนายทองห่อ” ตัวละครชาวไทยจากเรื่องเดียวกันเลือกการทำงานที่มีเกียรติภูมิสูง ในนวนิยายเรื่องรัตนโกสินทร์ ตัวละครอย่าง “เจ้าสัว” เลือกทำการค้า แต่ก็ไม่รังเกียจงานราชการ ขณะที่ตัวละครชาวไทยอย่าง “ท่านผู้หญิงเรียม” เลือกการรับราชการ ในจดหมายจากเมืองไทย ตัวละครชาวจีนเช่น “ตันส่วงอู๋” มีค่านิยมแบบชาวจีนว่าการทำงานเป็นเรื่องของผู้ชาย ชอบทำการค้าไม่ชอบรับราชการ
โลกทัศน์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชาวจีนและส่งต่อมาถึงชาวไทยเชื้อสายจีนในรุ่นต่อไปคือเรื่องของความกตัญญู ซึ่งสะท้อนอยู่ในตัวละครชาวจีนและตัวละครชาวไทยเชื้อสายจีนทุกเรื่องว่า ต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ผู้มีพระคุณ ในส่วนของการอนุรักษ์วัฒนธรรม ตัวละครชาวจีนจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมจีน ขณะที่ตัวละครชาวไทยเชื้อสายจีนจะชื่นชอบวัฒนธรรมจีนในบางอย่าง หรือยังคงธรรมเนียมจีนไว้บางส่วน แต่ได้รับการอบรมขัดเกลาตามแบบธรรมเนียมไทย ในส่วนของค่านิยมการให้ความสำคัญต่อบุตรชายมากกว่าบุตรสาวยังเป็นค่านิยมที่ส่งต่อให้กับคนไทยเชื้อสายจีน ขณะที่การแต่งงานเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องจัดการและเห็นชอบ ส่วนเรื่องความตายและการจัดการกับความตายสำหรับคนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวและต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเสียชีวิต และสุดท้ายคือวัฒนธรรมภาษา ตัวละครชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนจะใช้ทั้งภาษาจีนและภาษาไทย โดยชาวไทยเชื้อสายจีนมีแนวโน้มใช้ภาษาไทยมากกว่าภาษาจีน ขณะที่ตัวละครชาวไทยจะไม่ปรากฏการใช้ภาษาจีน
ทั้งหมดที่กล่าวมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ในเรื่องรัตนโกสินทร์เป็นช่วงที่จีนยังคงมีอำนาจ ซึ่งคนจีนที่เข้ามาประเทศไทยในยุคดังกล่าวก็เพื่อการทำมาหากิน ยังคิดกลับถิ่นฐานบ้านเกิดและคงอัตลักษณ์ความเป็นจีน ขณะที่นวนิยายสามเรื่องหลังเป็นช่วงที่จีนอพยพรู้สึกถึงความเป็นคนอื่นและต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย ในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการสั่งปิดโรงเรียนจีนด้วยความเกรงอิทธิพลทางการเมืองการปกครองแบบคอมมิวนิสต์จากประเทศจีน เมื่อกระแสสังคมหลักต่อต้าน "ความเป็นจีน" ก็นำไปสู่การปรับตัวเป็นคนไทยและกลมกลืนกับคนไทยจนกลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีความพยายามในการรื้อฟื้นอัตลักษณ์จีนเกิดขึ้น ซึ่งผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นความพยายามรื้อฟื้นเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ และอัตลักษณ์จีนที่นำมารื้อฟื้นนี้เป็นวัฒนธรรมของจีนทางเหนือคือจีนทางปักกิ่ง แตกต่างกับวัฒนธรรมของจีนทางใต้ตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ซึ่งบรรดาลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนควรต้องหันกลับมาทบทวนในเรื่องนี้
นอกจากทั้ง 5 งานวิจัย ในงานเสวนาวิชาการ 65 ปี คณะโบราณคดี ยังมีการนำเสนออีกหลายบทความที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง อาทิ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "65 ปี คณะโบราณคดี กับการพัฒนาองค์ความรู้มรดกวัฒนธรรม" โดย รศ .ดร. รัศมี ชูทรงเดช ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ประวัติศาสตร์ศิลปะกับการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่ามรดกวัฒนธรรมแห่งชาติ" โดย ศ. ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ งาน "คลังข้อมูลสารสนเทศศิลปวัฒนธรรมระยอง" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะโบราณคดีและบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงโครงการวิจัยเรื่อง “ท่าจีนและท่าฉลอม: พัฒนาการของเมืองสมุทรสาครจากงานศิลปกรรม” ซึ่งเป็นโครงการสำรวจและสังเคราะห์ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวในการพัฒนาเมืองสมุทรสาคร ซึ่งได้รับการอุดหนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะโบราณคดีและบริษัท สมุทรสาครพัฒนาเมือง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด รวมถึงการนำเสนอผลงานวิจัยของคณาจารย์ทุกภาควิชาในคณะ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนการทำงานวิชาการอย่างเข้มแข็งของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมไปถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรสาธารณะในทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของคณะในการผลิตบุคลากรและผลงานวิชาการที่ก้าวทันสถานการณ์โลกในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง